ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว
ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว

ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวหรืออีเบี้ยวเขียว ลักษณะผลใหญ่กลมเบี้ยว เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ เนื้อล่อน เป็นลำไยพันธุ์หนักที่เก็บผลผลิตได้ช้ากว่าพันธุ์อื่นๆ เจริญเติบโตได้ดี ทนแล้ง แต่มักอ่อนแอต่อโรคพุ่มไม้กวาด ออกดอกยาก มักเว้นปี สีของผลเมื่อมีขนาดเล็กมีสีเขียว
พันธุ์เบี้ยวเขียว แบ่งได้ 2 ชนิด คือ เบี้ยวเขียวก้านแข็ง (ป่าเส้าลำพูน)และ เบี้ยวเขียวก้านอ่อน (เชียงใหม่)เบี้ยวเขียวก้านแข็งให้ผลไม่ดก ขนาดผลใหญ่มากแต่ติดผลน้อยอ่อนแอต่อโรคพุ่มไม้กวาด ไม่ค่อยนิยมปลูก ส่วนเบี้ยวเขียวก้านอ่อนให้ผลดกเป็นพวงใหญ่ผลมีขนาดใหญ่ ขนาดผลเฉลี่ย กว้าง 3.0 เซนติเมตร หนา 2.6 เซนติเมตรและยาว 2.8 เซนติเมตร ทรงผลกลมแบนและเบี้ยวมากเห็นได้ชัด ผิวสีเขียวอมน้ำตาลอ่อนออกเขียวเล็กน้อยมีบ่าผล ไม่เท่ากัน ผิวเรียบ เปลือกหนาและเหนียว เนื้อหนา กรอบสีขาว ค่อนข้างใส ล่อนง่าย มีน้ำน้อย รสหวานแหลม กลิ่นหอม ปริมาณน้ำตาลประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดค่อนข้างเล็กโดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมบริโภคสด
ลำไยพันธุ์นี้จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4-5 ปีหลังการปลูก จะออกดอกในเดือนมกราคม และเราสามารถเก็บผลผลิต ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวได้ ในเดือนสิงหาคม-กันยายน
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ BEDO ได้ขึ้นทะเบียนลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ขอบเขตการผลิตพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอเมืองลำพูน ได้แก่ ต.หนองช้างคืน ต.อุโมงค์ ต.ประตูป่า ต.เหมืองง่า ต.ริมปิง และ ต.ต้นธง จังหวัดลำพูน ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน จะผลักดันให้มีการติดตราสัญลักษณ์ GI หลังจากที่มีประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI แล้ว หากมีการติดตราสัญลักษณ์จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ได้
0 ความคิดเห็น: